พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม วัดระฆังโฆสิตาราม เขตบางกอกน้อย ธนบุรี กรุงเทพมหานคร
พระสมเด็จฯ วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นองค์พระประธานใน พระชุดเบญจภาคี ท่านผู้สร้าง คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พุทธคุณ ความศักดิ์สิทธิ์ของพระสมเด็จวัดระฆัง มีมากมาย นับว่าเป็นพระเครื่องยอดนิยมอันดับหนึ่งตั้งแต่มีวงการพระเครื่องมา
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เกิดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) ที่พระนครศรีอยุธยา ท่านมีอายุยืนยาวนานถึง ๕ แผ่นดิน โดยในสมัยรัชกาลที่ ๕ ท่านเป็นหนึ่งในบุคคลไม่กี่คนที่อยู่ทันเห็น รัชกาลที่ ๑ พระองค์จริง ทั้งนี้ เมื่อท่านอุปสมบท รัชกาลที่ ๑ ทรงพระเมตตารับเป็นนาคหลวง อุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ท่านเป็นศิษย์ของสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ไก่เถื่อน พระสังฆราชองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นผู้สร้าง พระสมเด็จฯอรหังขึ้น ทั้งนี้ ว่ากันว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้ดำเนินรอยตามการสร้างพระตามสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ไก่เถื่อน ในปี พ.ศ. ๒๔๐๗ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น “สมเด็จพระพุฒาจารย์”
หลังจากนั้น ๒ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๐๙ ท่านได้เริ่มสร้างพระสมเด็จฯวัดระฆังโฆสิตาราม สำหรับมูลเหตุในการสร้างพระสมเด็จฯวัดระฆังนั้น เล่ากันว่า เมื่อครั้งที่ท่านขึ้นไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งที่มีชื่อเสียงเรื่องพระพิมพ์ ในครั้งนั้นท่านได้พบพระพิมพ์โบราณที่วัดเสด็จซึ่งเป็นวัดร้าง ท่านจึงได้นำพระพิมพ์เหล่านั้นกลับมาบางส่วนพร้อมทั้งดำริที่ว่าจะสร้างพระเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาเหมือนดังที่คนโบราณได้กระทำมา
สำหรับมวลสารที่ใช้ในการสร้างพระสมเด็จฯ ประกอบด้วย
• ปูนขาวเป็นส่วนใหญ่ (เอาเปลือกหอยมาเผาเป็นปูนขาว)
• ผงพุทธคุณ ซึ่งเกิดจากการเขียนอักขระลงบนกระดานชนวนแล้วลบ จากนั้นนำผงที่ได้มาปั้นแล้วนำมาเขียนใหม่ ทำแบบนี้ซ้ำๆ โดยเริ่มจากผงปถมัง ผงอิทธิเจ ตรีนิสิงเห มหาราช และพุทธคุณ ผงที่ได้จึงมีอานุภาพสูงสุด
• ส่วนผสมอื่นๆ ได้แก่ ใบลานเผา ดอกไม้แห้ง เศษจีวรพระ และเนื้อพระประสานด้วยน้ำมันตังอิ้ว เพื่อกันการแตกร้าว
สำหรับขั้นตอนกรรมวิธีนั้น
• นำเอามวลสารผสมแล้วนำมาตำเป็นเนื้อพระสมเด็จ
• ปั้นเป็นแท่งสี่เหลี่ยม ตัดออกเป็นชิ้นๆ (เรียกว่า ชิ้นฟัก)
• นำเนื้อพระสมเด็จชิ้นฟักวางลงที่แม่พิมพ์ ซึ่งแกะจากหินชนวน แล้วกดเนื้อพระกับแม่พิมพ์
• ตัดขอบพระเป็นรูปสี่เหลี่ยม โดยใช้ตอกตัดดอกไม้ไผ่ที่ใช้จักสาน
สำหรับแม่พิมพ์ ของพระสมเด็จฯนั้น เป็นแม่พิมพ์พระอย่างแรกที่เป็นศิลปะแบบ Abstract คือ เป็นลายเส้นรูปพระ แทนที่จะเป็นแบบที่มีรายละเอียดที่เป็นรูปพระเสมือนองค์จริง
แม่พิมพ์ พระสมเด็จฯ วัดระฆัง มีทั้งหมด ๕ พิมพ์ คือ
๑. พิมพ์ใหญ่ (พิมพ์ประธาน)
๒. พิมพ์ฐานแซม
๓. พิมพ์เจดีย์
๔. พิมพ์ปรกโพธิ์
๕. พิมพ์เกศบัวตูม
ขอบคุณข้อมูลจาก
สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย
69/21 ชั้น 3 ห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า งามวงค์วาน ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
02-952-7898
02-952-5490
https://www.samakomphra.com
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น