พระสมเด็จเกษไชโย พิมพ์ 7 ชั้นอกตัน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
วัดไชโยวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ตั้งอยู่ที่ตำบลไชโย อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2433 วัดนี้เดิมเป็นวัดราษฎร์สร้างมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง ต่อมาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้มาสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ไว้
สาเหตุที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ มาสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ไว้มีเรื่องเล่าต่อๆกันมาว่า โยมตา และโยมมารดาของท่านเคยอยู่ที่แถบวัดนี้ เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงมาสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ไว้เป็นอนุสรณ์ ประมาณปี พ.ศ. 2400-2409 การสร้างพระพุทธรูปครั้งแรกสร้างเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ ขนาดใหญ่โตมาก ใช้วิธีก่ออิฐสอปูน แต่ต่อมาได้พังทลายลงมาเจ้าประคุณสมเด็จฯจึงได้สร้างขึ้นใหม่ เป็นครั้งที่ 2 ก่ออิฐสอปูน ไม่ได้ปิดทอง มีขนาดสูงใหญ่นั่งอยู่กลางแจ้งเห็นได้แต่ไกล ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสมณฑลอยุธยา พ.ศ. 2421 เมื่อเรือพระที่นั่งผ่านวัดไชโย พระองค์มีพระราชหัตถเลขาไว้ว่า “วันจันทร์ เดือนสิบสองขึ้น 10 ค่ำ เวลา 2 โมงเช้า ออกเรือจากพลับพลาคลองกระทง ล่องมาตามแม่น้ำ ล่องลงไปอีกหน่อยหนึ่งถึงวัดไชโย ซึ่งสมเด็จพระพุฒาจาย์ (โต) สร้างพระใหญ่ขึ้นไว้ และจอดเรือที่นั่น พระราชเสนา พระยาอ่างทองหลวงยกบัตร มาถวายชั้น ขึ้นไปดูพระรูปร่างหน้าตาไม่งามเลย แลดูที่หน้าวัดปากเหมือนท่านขรัวโตไม่มีผิดถือปูนขาวมิได้ปิดทอง ทำนองท่านคิดไม่ปิดทองจึงได้เจาะท่อน้ำไว้ที่พระหัตถ์” ต่อมาในปีกุน พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยารัตนบดินทร (รอด กัลยาณมิตร) ที่สมุหนายกสำนักราชการกรมมหาดไทยขึ้นมาเป็นแม่กองปฏิสังขรณ์วัดไชโยนี้ขึ้นใหม่ทั่วทั้งอาราม มีการสร้างพระวิหารครอบพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ซึ่งจำเป็นต้องกระทุ้งราก พระพุทธรูปก่อสร้างด้วยปูนทนการกระเทือนไม่ได้จึงพังลงมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่ โดยลดขนาดให้เล็กลงอีก และให้มีโครงเหล็กยึดปูนไว้เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิแบบเดิม ขนาดหน้าตักกว้าง 8 วา 6 นิ้ว สูง 11 วา 1 ศอก 7 นิ้ว และพระราชทานนามว่า “พระมหาพุทธพิมพ์” ชาวบ้านมักเรียกว่า “หลวงพ่อโต” และทรงยกฐานะวัดไชโยเป็นพระอารามหลวง และโปรดเกล้าฯพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดไชโยวรวิหาร” ให้มีงานฉลองเมื่อวันที่ 5-7 ต.ค. พ.ศ. 2438 วัดไชโยวรวิหาร ที่หน้าวัดมีป้ายเขียนชื่อวัดไว้ว่า “วัดไชโยวรวิหาร” และมีบรรทัดต่อมามีวงเล็บไว้ว่า (เกษไชโย) ตามชื่อเดิมของวัด การพบพระสมเด็จเกษไชโยนั้น มีผู้เฒ่าผู้แก่ได้บันทึกไว้ว่า เมื่อครั้งตอนกระทุ้งรากฐานวิหารนั้น พระพุทธรูปองค์เดิมได้พังทลายลงมา และพบพระสมเด็จ พิมพ์ 7 ชั้น และพิมพ์ 6 ชั้น ซึ่งสันนิษฐานว่า เจ้าประคุณสมเด็จฯได้สร้างบรรจุไว้เมื่อตอนสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ชาวบ้านต่างก็พากันเก็บพระไปไว้ที่บ้าน ต่อมาท่านเจ้าพระยารัตนบดินทร (บุญรอด) จึงได้ประกาศป่าวร้องให้ราษฎรที่เก็บเอาพระพิมพ์สมเด็จ ที่แตกออกมาจากองค์พระพุทธรูปองค์ใหญ่ไป ให้นำมาคืนให้หมด จากนั้นท่านเจ้าพระยารัตนบดินทรก็ได้นำพระบรรจุคืนไว้ในพระมหาพุทธพิมพ์ตามเดิม และได้แบ่งพระส่วนหนึ่งแจกจ่ายคืนให้แก่ชาวบ้าน บ้านละองค์สององค์ตามสมควรแก่กรณี พระสมเด็จเกษไชโยจึงมีให้ได้พบเห็นกันในเวลาต่อมา และมีการเรียกชื่อพระสมเด็จที่พบ ณ วัดแห่งนี้ตามชื่อวัดเดิมว่า “พระสมเด็จเกษไชโย”
พระสมเด็จเกษไชโย ที่พบนั้น มีอยู่มากมายหลายพิมพ์ ที่เป็นพิมพ์นิยมได้แก่
1. พระสมเด็จเกษไชโย พิมพ์ 7 ชั้น นิยม
2. พระสมเด็จเกษไชโย พิมพ์ 6 ชั้นอกตัน
3. พระสมเด็จเกษไชโย พิมพ์ 6 ชั้นอกตลอด
4. พระสมเด็จเกษไชโย พิมพ์ 7 ชั้นหูประบ่า
นอกจากพบพระสมเด็จเกษไชโยที่วัดไชโยวรวิหารแล้ว ต่อมาเมื่อมีการเปิดกรุวัดบางขุนพรหมอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ. 2500 ยังมีการพบพระสมเด็จเกษไชโย ปะปนขึ้นมาด้วย เป็นพิมพ์ 7 ชั้นนิยม และพิมพ์ 6 ชั้น แต่ก็พบจำนวนน้อยมาก พระที่พบในพระเจดีย์วัดบางขุนพรหมจะมีขี้กรุจับผิวพระแบบเดียวกับพระสมเด็จของกรุวัดบางขุนพรหม การพบพระสมเด็จเกษไชโยที่กรุเจดีย์วัดบางขุนพรหมก็เป็นสิ่งยืนยันอีกอย่างหนึ่งว่า พระสมเด็จเกษไชโยเป็นพระที่เจ้าประคุณสมเด็จฯได้สร้างไว้ครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก
สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย
69/21 ชั้น 3 ห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า งามวงค์วาน ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
02-952-7898
02-952-5490
https://www.samakomphra.com
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น